หลักการและเหตุผล
ตามที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) [สนช.] เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการพัฒนาสตาร์ทอัพให้เป็นนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ โดยเชื่อมโยงความร่วมมือทุกภาคส่วนในระบบนิเวศในการสร้างความตระหนักและความตื่นตัว จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ ผ่านกระบวนการบ่มเพาะและเร่งสร้างธุรกิจ ตลอดจนการเร่งรัดธุรกิจออกสู่ตลาดและได้รับการลงทุน เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ระบบเศรษฐกิจ
ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดย สนช. มุ่งเน้นสร้างและยกระดับผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation Based Enterprise,IBE) กลุ่มสตาร์ทอัพใน 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่
1) เทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหาร (AgTech & FoodTech)
2) เทคโนโลยีด้านการท่องเที่ยว (TravelTech)
3) เทคโนโลยีด้านการแพทย์ (MedTech)
4) เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาด และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ (CleanTech & ClimateTech)
5) เทคโนโลยีด้านซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power)
สนช. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกที่มีความซับซ้อนบนพื้นฐานการวิจัยเชิงลึก สามารถตอบโจทย์ปัญหาความท้าทายของสังคม สิ่งแวดล้อม และปัญหาที่เร่งด่วนของโลกได้ นอกจากนี้ยังสามารถขับเคลื่อนสร้างให้เกิดตลาดใหม่และพลิกโฉมอุตสาหกรรมปัจจุบัน และเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นส่วนใหญ่จะถูกปกป้องด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่ยากต่อการลอกเลียนแบบ จึงสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันหรือเป็นอุปสรรคต่อคู่แข่งได้ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และอินเทอร์เน็ตสำหรับสรรพสิ่ง เทคโนโลยีหุ่นยนต์และโดรน วัสดุใหม่และนาโนเทคโนโลยี และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น
สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตร เป็นหนึ่งในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายตามแผนงานการพัฒนาสตาร์ทอัพรายสาขาของ สนช. เนื่องจากภาคการเกษตร เป็นฐานรากที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีประชากรในภาคเกษตร ประมาณ 25 ล้านคนหรือเกือบร้อยละ 40 ตลอดจนสร้างรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านอาหารให้กับคนทั้งในประเทศและทั้งโลก อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยของภาคการเกษตร และสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ยังผลให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง และไม่ได้คุณภาพ ดังนั้น การใช้องค์ความรู้การทำเกษตรแบบดั้งเดิม จึงไม่สามารถตอบโจทย์การทำเกษตรในโลกปัจจุบันได้อีกต่อไป การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเป็นแนวทางที่จะช่วยยกระดับภาคการเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ สร้างรายได้ต่อหัวของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยที่เป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นๆ ของการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ภาคการเกษตร จึงควรได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ได้เข้าถึงและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตภาคการเกษตร ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา สนช. มุ่งเน้นพัฒนาและเร่งสร้างสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรผ่านกิจกรรมบ่มเพาะและเร่งสร้างร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วนในระบบนิเวศ เพื่อยกระดับภาคการเกษตรไปสู่การทำเกษตรแบบแม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้ปัญหาภาคการเกษตร อย่างไรก็ตาม ถ้าเปรียบเทียบเชิงจำนวนและมูลค่าการลงทุนในสตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรของไทยกับหลายประเทศที่เป็นผู้นำด้านเกษตรระดับภูมิภาคหรือระดับโลกนั้น พบว่ายังมีจำนวนและมูลค่าการลงทุนน้อยมาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องเร่งสร้างให้สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรมีจำนวนเพิ่มขึ้น ตลอดจน ขยายผลการใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรม และดึงดูดตลาดการลงทุนจากทั่วโลกให้เข้ามาในประเทศ นำไปสู่การสร้างรายได้ หรือเกิดการร่วมลงทุน และขยายธุรกิจให้เติบโตได้ รวมทั้ง เป็นการสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ได้มีทางเลือกในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่หลากหลายจากสตาร์ทอัพ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อพัฒนาศักยภาพสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตรให้สามารถพัฒนาหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในธุรกิจการเกษตร
2. เพื่อสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตร สามารถสร้างรายได้ ได้รับเงินทุนสนับสนุน หรือเกิดการร่วมลงทุน ให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
3. เพื่อสร้างการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจที่ขับเคลื่อนบนฐานนวัตกรรมในการสนับสนุนด้านเงินทุน องค์ความรู้ และเพิ่มโอกาสการต่อยอดธุรกิจให้กับสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกด้านการเกษตร
คุณสมบัติของผู้สมัคร
